
มะเขือพวงกับเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่อ “อินสุลิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหารจำพวกน้ำตาลต่างๆ จึงเป็นผลทำให้การเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรตผิดปกติไป ส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทั้งยังส่งผลทำให้ไขมันและโปรตีนผิดปกติอีกด้วย ผลจากการมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานนี้เองจะทำให้น้ำตาลกลูโคสเข้าไปสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลกลูโคสในเซลล์อวัยวะนั้นๆ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังตามมา เช่น โรคของหลอดเลือดหัวใจ ไตพิการ จอตาพิการ หรือความพิการของระบบประสาทจนทำให้เกิดโรคที่เท้า และความพิการของอวัยวะตามมา
สมาพันธ์โรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) รายงานสถิติผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี ค.ศ. 1980 มีผู้ป่วยเบาหวาน 60 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 98 และ 171 ล้านคนในปี ค.ศ.1990 และ ปี ค.ศ.2000 มีคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี ค.ศ. 2030) ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านคน ดังนั้นโรคเบาหวานจึงนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก
ในประเทศไทยมีการใช้พืชสมุนไพรหลายชนิดรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่สมัยโบราณ จากการศึกษา พบว่ามีพืชพื้นบ้านไทยหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน เช่น ตำลึง บอระเพ็ด ช้าพลู อินทนิลน้ำ สัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พืชพื้นบ้านและสมุนไพรไทยส่วนใหญ่มีการใช้ในลักษณะตามคำบอกเล่ากันว่าใช้รักษาแล้วได้ผล แต่ยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะสนับสนุนหรือตอบข้อสงสัยหลายประเด็นได้ จึงเป็นข้อด้อยที่ทำให้ความนิยมใช้ ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่งพืชพื้นบ้านหรือสมุนไพรไทยบางชนิดอาจมีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ดีกว่ายาหรือพืชสมุนไพรที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับพืช สมุนไพรไทยกันมากขึ้น และมีหลายการศึกษารายงานผลการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้ได้คำตอบถึงกลไกลการออกฤทธิ์ในผู้ป่วยเบาหวาน เช่น สารสกัดจากกระเจี๊ยบ ผักเชียงดา มะเขือพวง ซึ่งผลการศึกษารายงานว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดี

อนุมูลอิสระและการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชันในโรคเบาหวาน
การทำลายเซลล์โดยมีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative damage) ต่อสารชีวโมเลกุลในร่างกาย เช่น โปรตีน หรือไขมัน โดยสารอนุมูลอิสระที่เป็นอนุพันธ์ของออกซิเจน (Reactive oxygen species) มีบทบาทสำคัญต่อพยาธิสภาพการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคของความเสื่อมโทรมต่างๆ ในร่างกายที่เกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับระยะเวลาหรืออายุขัย ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคสมองเสื่อม และโรคต้อ เป็นต้น
สาเหตุหลักของการทำลายเซลล์ต่างๆ ในร่างกายนั้น คือ สารพวกอนุมูลอิสระที่เป็นอนุพันธ์ของออกซิเจนนั่นเอง สารเหล่านี้จะมีความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยามาก เพราะมีอิเลคตรอนไม่ครบคู่ เช่น อนุมูลอิสระซูปเปอร์ออกไซด์ (superoxide), อนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) เป็นต้น หากอนุมูลอิสระเหล่านี้เข้าไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ของร่างกายที่บริเวณใด บริเวณนั้นๆ หรืออวัยวะนั้นๆ ก็จะถูกทำลาย เช่น หากเกิดภาวะทำลายเซลล์โดยมีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ผนังหลอดเลือด ก็จะทำให้เกิดการแข็ง ตีบตัน หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น ก่อให้เกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดต่อไป หากเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่บริเวณดวงตา อาจก่อให้เกิดต้อ หากเกิดที่ระบบประสาท ก็อาจทำให้สูญเสียประสาทสัมผัสได้ หากเกิดที่ไต ก็จะทำให้ไตเสื่อมสภาพจนกระทั่งเกิดภาวะไตวายได้ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอาการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าภาวะที่เซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ (ภาวะเครียดออกซิเดชัน) มีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ
จากการวิจัยของสถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า โดยศึกษาความสามารถในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดแห้งมะเขือพวง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นเบาหวานได้ ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดออกซิเดชันในหนูทดลองที่มีอาการของโรคเบาหวาน ส่งผลต่อสภาวะเครียดออกซิเดชันในเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้น้ำสมุนไพรมะเขือพวงยังลดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์เป็นไขมันตัวร้ายในหนูทดลองที่มีอาการเบาหวาน ผลจากการศึกษาวิจัยยังพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานเหล่านี้ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเครื่องดื่มที่มีมะเขือพวงเป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ในการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากเบาหวานได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตพิการ จอตาพิการ ประสาทพิการ โรคที่เท้าและอวัยวะพิการ
สนใจผลิตภัณฑ์คลิกเลย 
|